บุหรี่ไฟฟ้าอันตราย ผิดกฎหมาย!! ครอบครอง สูบ มีโทษ จำคุก – ปรับ

คำถาม : เสพบุหรี่ไฟฟ้า เราเอาผิดอะไรได้บ้างกับผู้เสพครับ เท่าที่ดู มีแต่กฏหมายบังคับกับผู้ครอบครอง ผู้ขาย ผู้นำเข้า ส่งออก❓❓❓

คำตอบ : ขอตอบ ให้ครบทุกข้อหา ดังนี้ครับ

บุหรี่ไฟฟ้า มีสารนิโคติน จึงเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบ ตามคำนิยาม

🟠 สูบ บุหรี่ไฟฟ้า /บารากู่ไฟฟ้า ในที่ สาธารณะ ผิด ทั้ง พรบ การสาธารณสุขฯ ม.27/ พรบ ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ฯ ม.42 ครับ

🟠 ข้อหา บุหรี่ไฟฟ้า / บารากู่ไฟฟ้า

1. นำเข้า / ส่งออก
2. ขาย / ให้บริการ
2. ซื้อ / ครอบครอง
3. ผู้เสพ / สูบ

♠️ คำอธิบายรายละเอียดของข้อหาต่างๆ

1. นำเข้า / ส่งออก มีความผิดตาม พรบ ศุลกากรฯ ม.242 ว.1 โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาของรวมอากร หรือ 244 ว.1 โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ พรบ การส่งออกไปนอกและนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าฯ ม.5(1)+20 โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. จำหน่าย/ขาย/ให้เช่า/ให้บริการ มีความผิด ตาม พรบ คุ้มครองผู้บริโภค ม.29/9 และ 56/4 และประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับ 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี มีความผิดตาม พรบ คุ้มครองเด็กฯ ม.26(10)+78 โทษจำคุกไม่เกิน 3 ด. หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ พรบ ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฯ ม.26 โทษจำคุกไม่เกิน 3 ด. หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขายในสถานที่ต้องห้าม เช่น วัด โรงเรียน สวนสาธารณะ มีความผิดตาม พรบ ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฯ ม.29 โทษปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท

3. ซื้อ / ครอบครอง มีความผิดตาม พรบ ศุลกากร ฯ มาตรา 242 ว.1+246 ว.1 โทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาของที่รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือ 244 ว.1+246 ว.3 โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่กรณี

เป็นเด็กอายุไม่ถึง 20 ปี ซื้อบุหรี่ไฟฟ้ามาสูบ หรือเข้าไปในสถานที่เฉพาะเพื่อการจำหน่ายบุหรี่ มีความผิดตาม พรบ คุ้มครองเด็กฯ ม.45 ต้องเรียกผู้ปกครองมาว่ากล่าวตักเตือน หรือ ทำทัณฑ์บน หรือให้เด็กทำงานบริการสังคม หรือหลายอย่างด้วยกัน

4. สูบในเขตปลอดบุหรี่ มีความผิดตาม พรบ ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฯ ม.42+67 ปรับไม่เกิน 5,000 บาท

สูบในที่สาธารณะ เกิดมลพิษ มีความผิดตาม พรบ การสาธารณสุขฯ ม.27+74 จำคุกไม่เกิน 3 ด.หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

♦️ ความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากรฯ เปรียบเทียบปรับได้ ไม่ต้องขึ้นศาล

ความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากร เป็นความผิดที่สามารถดำเนินการระงับคดีในชั้นศุลกากรได้ โดยไม่ต้องส่งฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ. ศุลกากร มาตรา 256 ที่บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 257 บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าบุคคลนั้นยินยอมใช้ค่าปรับ หรือได้ทําความตกลง หรือทําทัณฑ์บน หรือให้ประกันตามที่อธิบดีเห็นสมควรแล้ว อธิบดีจะงดการฟ้องร้องเสียก็ได้ และให้ถือว่าคดีเลิกกัน

กระบวนการโดยทั่วไปหลังจากผู้ต้องหาถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า กระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากร ผู้ต้องหาสามารถเข้าแจ้งต่อตำรวจว่า ต้องการจะใช้สิทธิพิจารณาการระงับคดีในชั้นศุลกากรได้ โดยเมื่อแจ้งสิทธิแล้ว พนักงานสอบสวนจะต้องส่งสำนวนคดีและเรื่องไปยังหน่วยงานศุลกากรที่มีขอบเขตอำนาจดูแลรับผิดชอบคดีศุลกากรในพื้นที่นั้นๆ โดยต่อจากนี้จะเป็นอำนาจของหน่วยงานที่ทำหน้าที่เปรียบเทียบปรับซึ่งอธิบดีกรมศุลกากรได้มอบอำนาจไว้ หากเจ้าหน้าที่ศุลกากรเห็นควรเปรียบเทียบปรับ การปรับก็จะเป็นไปตามเกณฑ์การเปรียบเทียบงดการฟ้องร้องตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ซึ่งจะมีการกำหนดรายละเอียดและข้อกำหนดแยกตามฐานความผิด โดยเมื่อเสียค่าปรับหรือทำตามข้อกำหนดแล้ว คดีก็จบไป ไม่สามารถนำขึ้นไปฟ้องร้องได้อีก

แต่หากหน่วยงานที่ทำหน้าที่เปรียบเทียบปรับพิจารณาไม่ให้มีการเปรียบเทียบปรับ อธิบดีฯ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีฯ ก็ต้องทำบันทึกเหตุผลในการฟ้องผู้กระทำความผิด พร้อมกับส่งเรื่องกลับไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีต่อไป

🟠 เปิดคำพิพากษาฎีกา “ครอบครอง #บุหรี่ไฟฟ้า ผิดหรือไม่??”*

ที่มีคนอ้างว่าคำพิพากษาฎีกา 1411/2564 จะใช้กับพรบ.ศุลกากรปัจจุบันปี 2560 ไม่ได้ เพราะ ตัดสินตาม พรบ.ศุลกากร ฉบับเก่ามาตรา 27 ทวิ ซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้ว บอกว่าการกระทำความผิดของผู้ต้องหาในคดีดังกล่าวกระทำก่อนปี 2560 จึงใช้พรบ.เก่า และถ้าเป็นพรบใหม่ ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าถือว่าไม่ผิด จริงหรือไม่??

1. ศาลฎีกาได้พูดถึง พรบ.ศุลกากร 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับใหม่ ไว้ในฎีกา 1411/2564 นี้ด้วย และการที่ศาลฎีกายังใช้ พรบ.ศุลกากร 2469 ซึ่งเป็นฉบับเก่าลงโทษจำเลยเพราะ พรบ.ฉบับใหม่ ไม่เป็นคุณแก่จำเลย อันนี้ในฎีกาพูดไว้ชัดเจน “พรบ ศุลกากร 2560 มาตรา 246 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 242 เป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิด ไม่เป็นคุณแก่จำเลย” (ไฮไลท์สีเหลืองไว้ในภาพ) แปลว่าอะไร มันแปลว่า ถ้าเป็นไปอย่างที่มีคนมาอ้างว่า ตามพรบ.ใหม่นั้น ผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าไม่ผิดแล้ว ถ้าจริงตามนั้น ศาลฎีกาก็คงจะใช้พรบ.ใหม่กับคดีนี้ไปแล้วเพราะถือว่าเป็นกฎหมายใหม่ที่บัญญัติขึ้นภายหลังและเป็นคุณแก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรค 2 และมาตรา 3 ดังนั้น การที่มีคนมากล่าวอ้างว่า ฎีกานี้จะใช้กับพรบ.ศุลกากรปัจจุบันปี 2560 ไม่ได้ และยังแนะนำว่าผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีความผิด จึงไม่น่าถูกต้อง ไม่ควรหลงเชื่อ

ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 2 วรรค 2 ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง
มาตรา 3 ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว…………

2. ศาลฎีการะบุความผิดของจำเลยในคดีนี้ไว้ชัดเจนว่า เป็นกรณี “รับไว้” ซึ่งเตาบารากู่อันเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2557 ข้อ 4 จำเลยจึงมีความผิดฐาน “ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับไว้ โดยประการใด ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง (ไฮไลท์สีม่วง) ดังนั้นผู้ครอบครอง หรือซื้อบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งเป็นของประเภทเดียวกับบารากู่ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์จึงย่อมมีความผิด ซึ่งถ้าเป็นพรบ.ศุลกากรฉบับปัจจุบันคือ มาตรา 242 และ 246

คำพิพากษาฎีกาฉบับนี้ควรนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังซะที*

แนวทางดำเนินคดีบุหรี่ไฟฟ้า ของ ตร. พ.ศ.2561 ครับ https://drive.google.com/file/d/163e9LqAqiM-dAICmszkcF9HYmMyMf2bY/view?usp=drivesdk

คำพิพากษาฎีกา 1411/2564 ครับ https://drive.google.com/file/d/1iO-GIPBW8SYODkORe97dSye9UuPkQJO9/view?usp=drivesdk

*เครดิต : คำพิพากษาฎีกา จาก เพจ บุหรี่ไฟฟ้า 101

/โดย พ.ต.ท.ภูมิรพี ผลาภูมิ เขียน/เรียบเรียง

(กฎหมายตำรวจและพนักงานสอบสวน by ภูมิรพี ผลาภูมิ)✅

 

Leave a comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *